บทที่ 2 การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลก

การเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพในส่วนต่าง ๆ ของโลก
     






1.ธรณีภาค(Lithosphere)

    ธรณีภาค  คือ ส่วนเปลือกโลกที่เป็นของแข็งหุ้มห่ออยู่ชั้นนอกสุดของโลก  ชั้นบนเป็นพื้นที่ที่มนุษย์ใช้เป็นที่อยู่อาศัย  มีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายที่มนุษย์ใช้ในกิจกรรมต่างๆ  ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
 
โครงสร้างของโลก

1.ลักษณะโครงสร้างของโลก
   นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับส่วนประกอบและโครงสร้างของโลก โดยศึกษาเกี่ยวกับเศษชิ้นส่วนที่ภูเขาไฟพ่นออกมา ตลอดจนเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่อยู่ในอวกาศและตกลงมายังพื้นผิวโลก ซึ่งจากการศึกษาสรุปได้ว่า โลกมีโครงสร้างและส่วนประกอบซึ่งแบ่งได้ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นเปลือกโลก (crust) ชั้นเนื้อโลก (mantle) และชั้นแก่นโลก (core)
   1.1 ชั้นเปลือกโลก
   เป็นพื้นผิวโลกที่อยู่ชั้นนอกสุด หนาประมาณ 35 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
       1. ชั้นไซอัล (sial layer) เป็นชั้นหินสีจาง มีแร่ซิลิกาเป็นส่วนใหญ่ และมีอะลูมินาเป็นส่วนประกอบ ตัวอย่างของเปลือกโลกชั้นไซอัล ได้แก่ หินแกรนิตชนิดต่าง ๆ
       2. ชั้นไซมา (sima layer) เป็นชั้นหินหนืดที่มีผืนหินแข็งกว่าหินเปลือกโลกชั้นไซอัล ประกอบด้วยซิลิกาและแมกนีเซียม และมีชั้นแนวแบ่งเขตมอฮอรอวีชีชกั้นอยู่ ตัวอย่างหินชั้นไซมา ได้แก่ หินบะซอลต์
   1.2 ชั้นเนื้อโลก
   เป็นชั้นที่สองของโครงสร้างของโลก หนาประมาณ 2,900กิโลเมตร เป็นชั้นที่มีหินเย็นตัวแล้ว สันนิษฐานว่าชั้นนี้ประกอบด้วยหินชนิดเดียวกันตลอดชั้น
   1.3 ชั้นแก่นโลก
   เป็นโครงสร้างชั้นในสุดของโลก แบ่งออกเป็น 2 ชั้นย่อย ได้แก่
       1. แก่นโลกชั้นนอก (outer core) หนาประมาณ 2,200 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินหนืดซึ่งเป็นหินหลอมละลายที่มีอุณหภูมิสูง มีแร่หลายชนิดและแก๊สกำมะถันละลายรวมอยู่ด้วย
       2. แก่นโลกชั้นใน (inner core) หนาประมาณ 2,500 กิโลเมตร เป็นชั้นของแข็งที่เป็นโลหะเหล็กและนิกเกิลที่อัดตัวกันแน่นภายใต้ความกดดันสูง และมีแรงดึงดูดมวลวัตถุอื่น ๆ เข้าสู่ศูนย์กลางของโลกมาก
 2.ลักษณะภูมิประเทศของโลก
   ปัจจัยที่ทำให้เปลือกโลกเปลี่ยนแปลงมี 2 ประการ คือ ปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากพลังงานที่เกิดขึ้นภายในโลก และปัจจัยที่สืบเนื่องมาจากภายนอกโลก

   ลักษณะภูมิประเทศแต่ละแบบนอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลและมีปฏิสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ของประชากรอีกด้วย ดังนี้
   1. ความสัมพันธ์ต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นปัจจัยส่งเสริม เช่น ที่ราบ ส่วนที่เป็นอุปสรรค เช่น ที่ราบสูง
   2. ความสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อม ลักษณะภูมิประเทศมีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมใน 2 ลักษณะ ดังนี้
       1) ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ภูมิประเทศแบบภูเขามักจะเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรแร่ ป่าไม้ สัตว์ป่า
       2) ความสัมพันธ์ของสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ เช่น ที่ยอดเขามีระดับอุณหภูมิต่ำกว่าเชิงเขา
 3. กระบวนการสำคัญที่ส่งผลให้เกิดลักษณะภูมิประเทศของโลก
   กระบวนการที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้พื้นผิวโลกและเปลือกโลกเปลี่ยนแปลงมีอยู่ 3 กลุ่ม ดังนี้
   3.1 กระบวนการแปรสัณฐาน (tectonic process)
   เป็นกระบวนการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกอันเป็นผลจากแรงที่กระทำต่อเปลือกโลก แล้วทำให้โครงสร้างของหินที่ประกอบเป็นเปลือกโลกเกิดการแปรสภาพไปเป็นภูมิประเทศแบบต่าง ๆ เช่น มหาสมุทร ที่ราบสูง ภูเขา
       3.1.1 รอยคดโค้ง (fold)
       เกิดจากแรงดันภายในเปลือกโลก ทำให้เปลือกโลกบีบอัดกันจนโค้งงอ แล้วเกิดเป็นภูเขา แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
          1. ชั้นหินโค้งรูปประทุน (anticline) ชั้นหินที่อยู่บริเวณใจกลางจะมีอายุแก่ที่สุด
          2. ชั้นหินโค้งรูปประทุนหงาย (syncline) ชั้นหินที่อยู่บริเวณใจกลางจะมีอายุอ่อนที่สุด
       3.1.2 รอยเลื่อน (fault)
       รอยเลื่อนเกิดจากบริเวณเปลือกโลกที่มีความอ่อนตัว เกิดความเค้นและความเครียด จนทำให้เปลือกโลกเคลื่อนไหว และแยกออกจากกัน การเกิดรอยเลื่อนโดยทั่วไปมี 2 ทิศทาง ได้แก่
          1. การเกิดรอยเลื่อนในแนวดิ่ง มี 2 แบบ คือ
             1) รอยเลื่อนปกติ เกิดจากแรงดึงออกจากกันของหินสองฟาก ทำให้เกิดหน้าผารอยเลื่อนที่มีความสูงชัน
             2) รอยเลื่อนย้อน เกิดจากแรงดันเข้าหากันของหินสองฟาก ทำให้เกิดหน้าผาซึ่งมักถล่มได้ง่าย
       ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากรอยเลื่อนปกติมี 2 แบบ ได้แก่ หุบเขาทรุดหรือกราเบน (graben) ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งราบที่เกิดจากการทรุดตัวตามแนวรอยเลื่อน และพื้นที่ยกตัวขึ้นตามแนวรอยเลื่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาสูงที่ขนาบด้วยหน้าผารอยเลื่อนที่เรียกว่า ฮอสต์ (horst) หรือภูเขาบล็อก บริเวณที่ยกตัวสูงหากมีพื้นที่กว้างขวางเรียกว่า ที่ราบสูง
          2. การเกิดรอยเลื่อนในแนวนอน เรียกอีกอย่างว่า รอยเลื่อนแนวระดับ (strike fault) เกิดจากการเคลื่อนตัวไปทางด้านข้างขนานกับแนวระดับของชั้นหินที่เลื่อนไป

       3.1.3 ภูเขาไฟปะทุ (volcanism)
       เกิดจากแมกมาถูกแรงดันผลักดันขึ้นสู่ผิวโลกด้านบน โดยมีแรงปะทุเกิดขึ้น เรียกว่า การปะทุของภูเขาไฟ หินหนืดที่พุ่งขึ้นมาจากการปะทุของภูเขาไฟสู่ผิวโลกนี้เรียกว่า ลาวา
       นักธรณีวิทยาจัดแบ่งภูเขาไฟตามลักษณะรูปร่างและการเกิดได้ 3 แบบ ดังนี้
          1. ภูเขาไฟแบบกรวยกรวดภูเขาไฟ (cinder cone) มีขนาดเล็กที่สุด ลักษณะเหมือนกรวยที่คว่ำอยู่ เกิดจากหินหนืดถูกดันปะทุออกมาทางปล่องโดยแรง ทำให้ชิ้นส่วนของหินที่ร้อนจัดลุกเป็นไฟปะทุขึ้นไปในอากาศแล้วเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วกลายเป็นกรวดภูเขาไฟและขี้เถ้ากองทับกันเป็นชั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ
          2. ภูเขาไฟแบบกรวยภูเขาไฟสลับชั้น (composite cone หรือ stratovolcano) มีลักษณะคล้ายแบบแรก แต่ฐานแผ่ขยายใหญ่และลาดจากปากปล่องมาที่ฐานมากกว่า เพราะนอกจากหินหนืดจะถูกดันปะทุขึ้นไปทางปากปล่องโดยตรงแล้ว ยังถูกดันออกมาทางด้านข้างของปล่องอีกด้วย แต่เนื่องจากหินหนืดที่ไหลออกมามีความหนืดสูง จึงไหลไปไม่ไกลนัก
          3. ภูเขาไฟรูปโล่ (shield volcano) มีลักษณะกว้างเตี้ยคล้ายรูปโล่คว่ำ เกิดจากหินหนืดที่ไหลออกมาจากปล่องมีอุณหภูมิสูงมากและมีอัตราการไหลเร็วมากจึงไหลไปได้ในระยะทางไกล จึงเป็นภูเขาไฟที่มีรูปร่างกว้างใหญ่ที่สุด
       บริเวณขอบทวีปที่มีการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกใต้มหาสมุทรมีโอกาสเกิดภูเขาไฟปะทุมากกว่าบริเวณอื่น ๆ เนื่องจากบริเวณที่เปลือกโลกมุดตัวลงไปจะถูกหลอมกลายเป็นหินหนืดที่มีอุณหภูมิและแรงดันสูงมาก หินหนืดนี้จะถูกแรงดันอัดให้แทรกตัวขึ้นมาตามรอยแตกแยกง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ
       การปะทุของภูเขาไฟที่รุนแรงมาก ๆ อาจทำให้เกิดภูมิประเทศแบบต่าง ๆ เช่น ทำให้เกิดแอ่งขนาดใหญ่ เรียกว่า แคลดีรา บางแห่งอาจมีน้ำขังจนกลายเป็นทะเลสาบ หรือบางแห่งอาจเกิดเป็นที่ราบสูงภูเขาไฟเนื่องจากลาวาที่ไหลออกมาปกคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง
       3.1.4 แผ่นดินไหว (earthquakes)
       แผ่นดินไหวเกิดจากการคลายตัวอย่างรวดเร็วของเปลือกโลกที่มีการสะสมพลังความเค้นและความเครียด มักเกิดบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกับบริเวณที่เกิดภูเขาไฟ ผลจากการเกิดแผ่นดินไหว อาจทำให้เกิดการถล่มของแผ่นดิน เกิดรอยแตกรอยแยกบริเวณเปลือกโลก
   3.2 กระบวนการปรับระดับผิวแผ่นดิน
   กระบวนการปรับระดับผิวแผ่นดินเป็นการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอย่างช้า ๆ ทำให้ระดับพื้นผิวโลกมีระดับราบ หรือลาดสม่ำเสมอ อันเนื่องมาจากตัวการทางธรรมชาติที่สำคัญ เช่น น้ำไหล ลม ธารน้ำแข็ง คลื่น และกระแสน้ำ
       3.2.1 กระบวนการที่ทำให้เกิดการปรับระดับผิวแผ่นดิน
          1. การผุพังอยู่กับที่ (weathering) เป็นกระบวนทางเคมีของลมฟ้าอากาศและน้ำฝน รวมทั้งการกระทำของต้นไม้และแบคทีเรีย การผุพังอยู่กับที่เกิดขึ้นได้ 3 ประเภท คือ
             1) การผุพังทางกายภาพ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมบัติทางเคมีของหิน เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
             2) การผุพังทางเคมี เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของแร่ประกอบหินที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายแบบ เช่น การละลาย (solution) ออกซิเจนทำปฏิกิริยากับแร่ (oxidation)
             3) การผุพังทางชีวะ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต เช่น รากของพืชที่ซอกซอนรอยแยกของหินทำให้หินแตกออกมา
          2. การกร่อน (erosion) เกิดจากตัวการธรรมชาติที่เคลื่อนที่ได้ เช่น น้ำ ลม
          3. การพัดพา (transportation) เกิดจากตัวการธรรมชาติ เช่น ลม ธารน้ำแข็ง พัดพาวัตถุไป
          4. การทับถม (deposition) เป็นการเคลื่อนที่ของเศษตะกอนที่ถูกพัดพาไปทับถมยังบริเวณอื่น
       3.2.2 ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการปรับระดับผิวแผ่นดิน
          1. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของน้ำและแม่น้ำ
          การกร่อน การพัดพา และการทับถม เป็นกระบวนการของแม่น้ำที่มีผลต่อลักษณะภูมิประเทศ โดยวิลเลียมเอ็ม. เดวิส (William M. Davis) นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันได้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของแม่น้ำไว้ ดังนี้
          ระยะเริ่มแรกหรือวัยอ่อน (young age) ลักษณะภูมิประเทศจะมีความชันมาก น้ำจะไหลแรง บริเวณนี้ไม่ปรากฏที่ราบน้ำท่วมถึง
          วัยหนุ่ม (mature age) น้ำไหลช้าลงและมีลักษณะคดเคี้ยว แม่น้ำจะกัดเซาะบริเวณตลิ่งมากขึ้น เริ่มปรากฏที่ราบน้ำท่วมถึงในบริเวณนี้
          วัยชรา (old age) น้ำไหลช้ากว่าวัยหนุ่มและไหลคดโค้งขึ้น มีการตกตะกอนของวัตถุทำให้ท้องน้ำตื้น เกิดพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นบริเวณกว้าง บางบริเวณอาจมีเขาโดด (monadnock)
          ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของแม่น้ำ
             1) แก่ง (rapids) คือ ธารน้ำที่มีโขดหินขวางกั้นกระจายตามท้องน้ำ
             2) น้ำตก (waterfall) เกิดจากกระบวนการกัดกร่อนของกระแสน้ำที่ไหลผ่านธารน้ำที่มีชั้นหินรองรับอยู่ จนหินแข็งกร่อนและเปลี่ยนสภาพเป็นผาชันของน้ำตก
             3) หุบผาชัน (canyon) เกิดจากการกัดเซาะของน้ำบริเวณท้องน้ำอย่างรวดเร็วจนเป็นร่องลึก เหลือหน้าผาสูงชันทั้งสองด้าน
             4) ถ้ำ (cave) มักพบมากในบริเวณที่ภูเขามีลักษณะเป็นหินปูน ซึ่งน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนจะค่อย ๆ กัดกร่อนหินปูนให้กลายเป็นช่องหรือโพรงขนาดใหญ่ และพัฒนามาเป็นถ้ำ และในถ้ำยังพบหินงอก (stalagmite) และหินย้อย (stalactite)
             5) ที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood plain) เป็นที่ราบลุ่มที่อยู่ตามฝั่งของแม่น้ำในระยะวัยหนุ่มและวัยชรา เกิดจากการทับถมของตะกอนในช่วงน้ำหลาก ทำให้น้ำตื้นเขินเกิดเป็นที่ราบ
             6) เนินตะกอนน้ำพารูปพัด (alluvial fan) เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนในลักษณะที่แยกกระจายออกไปรอบข้างเป็นรูปพัด ถ้าตะกอนสะสมตัวพูนสูงขึ้นจนเป็นรูปกรวยผ่าครึ่งตามยาว เรียกว่า เนินตะกอนน้ำพารูปกรวย ถ้าตะกอนส่วนใหญ่มีเนื้อหยาบ เรียกว่า เนินตะกอนหยาบรูปกรวย
             7) ดินดอนสามเหลี่ยม (delta) เกิดจากการที่แม่น้ำพัดพาตะกอนมาทับถมบริเวณปากแม่น้ำกลายเป็นพื้นดินแผ่กระจายเป็นรูปพัดบริเวณปากแม่น้ำ

          2. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของลม
          การกระทำของลมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวโลก ได้แก่ การกร่อน การพัดพา และการทับถม ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศแบบต่าง ๆ เช่น
             1) แอ่งในทะเลทราย ลมจะพัดพาเอาวัตถุที่อยู่ตามพื้นผิวดินหรือทะเลทรายขึ้นมา จนทำให้เกิดแอ่งขนาดเล็ก
             2) เขาโดดในทะเลทราย (inselberg) เกิดจากการกร่อน โดยลมกระทำต่อภูเขาที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวในทะเลทรายจนทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป
             3) เนินทรายหรือสันทราย (sand dune) เกิดจากลักษณะแผ่นดินที่ตั้งขวางทิศทางลม ทำให้ลมพัดทรายละเอียดมาทับถมกันบริเวณด้านหน้าของสิ่งที่กั้นขวาง
             4) ดินเลิสส์ (loess) หรือดินลมหอบ เกิดจากลมพัดพาตะกอนดินมาจากเขตพื้นที่แห้งแล้งมาทับถมกัน
          3. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของธารน้ำแข็ง
          ธารน้ำแข็งแบ่งออกเป็น 2ประเภท ดังนี้
             1) ธารน้ำแข็งหุบเขา (valley glacier) เป็นน้ำแข็งที่เกิดจากการสะสมตัวของหิมะแล้วไหลลงมาตามหุบเขา ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศรูปแบบต่าง ๆ เช่น
             เซิร์ก (cirque) เกิดจากธารน้ำแข็งกัดเซาะไหล่เขาให้เป็นแอ่งลึกเข้าไป ถ้าบริเวณแอ่งมีน้ำขังอยู่จะมีลักษณะเป็นทะเลทราย เรียกว่า ทาร์น (tarn)
             อาแรต(arête) อยู่ระหว่างแอ่งเซิร์ก 2 แห่ง มักมีลักษณะสันเขาหยักแหลม ๆ
             ฮอร์น (horn) คือบริเวณที่มีแอ่งเซิร์ก 3 แอ่ง หรือมากกว่านั้นหันหลังชนกัน จะเกิดยอดเขาแหลมรูปพีระมิดสูง
           หุบเขาธารน้ำแข็ง (glacial trough) คือบริเวณหุบเขาที่มีลักษณะลึกและกว้าง ขอบสูงชันคล้ายตัวยู (U-Shape valley) ถ้าหุบเขานี้อยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลมีลักษณะเป็นหุบเขาแคบ ๆ มีหน้าผาสูงชัน เรียกว่า ฟยอร์ด (fiord)
             2) ธารน้ำแข็งภาคพื้นทวีป (continental glacier) พบอยู่บนภาคพื้นทวีปในเขตละติจูดสูง ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดขึ้นมักเกิดจากการกร่อน พัดพา และการทับถม เช่น
             ทะเลสาบธารน้ำแข็ง (glacier lake) เกิดจากการกัดกร่อนของธารน้ำแข็งจนทำให้เป็นหลุม เมื่อธารน้ำแข็งละลายจึงกลายเป็นทะเลสาบ
             ที่ราบเศษหินธารน้ำแข็ง (outwash plain) เกิดจากเศษดินเศษหินที่ธารน้ำแข็งพัดพามาทับถมบริเวณปลายธารน้ำแข็ง
          4. ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากการกระทำของคลื่นและกระแสน้ำ
          การกระทำของคลื่นและกระแสน้ำที่ก่อให้เกิดลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ การกร่อน การพัดพา และการทับถม ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ เช่น
             1) แหลม (cape) และอ่าว (bay) ส่วนหินแข็งที่ยื่นออกไปในทะเล เรียกว่า แหลม ส่วนบริเวณที่ถูกกัดเซาะเว้าเข้าไปในแผ่นดิน เรียกว่า อ่าว
             2) หน้าผาสูงชันริมทะเล (sea cliff) และโพรงหินชายฝั่ง (sea cave) เกิดจากการกัดเซาะของคลื่น ทำให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชัน ถ้าบริเวณหน้าผาชายทะเลถูกคลื่นกัดเซาะบริเวณฐานของหน้าผา เรียกว่า โพรงหินชายฝั่ง
             3) ซุ้มหินชายฝั่ง (sea arch) มักเกิดขึ้นบริเวณหัวแหลม โดยกระแสน้ำจะกัดเซาะจนทำให้เกิดเป็นโพรงหิน เมื่อโพรงนี้ทะลุจะมีเป็นลักษณะเหมือนสะพานโค้งอยู่เหนือน้ำ
             4) หาดทราย (beach) เกิดขึ้นจากการทับถมของกรวดทรายที่คลื่นพัดพามา
             5) สันดอน (bar) เกิดจากคลื่นและกระแสน้ำพัดพาเอากรวด ทรายมาทับถมขวางทางไว้ เมื่อนานเข้าจะปรากฏเป็นเนินสูงพ้นจากพื้นน้ำ
             6) ที่ราบชายฝั่ง (coastal plain) เกิดจากคลื่นและกระแสน้ำพัดพาเศษวัตถุจากทะเลเข้ามาทับถมไว้ที่ชายฝั่ง ทำให้เกิดเป็นที่ราบ
   3.3 กระบวนการจากภายนอกโลก
   ตัวการที่สำคัญ ได้แก่ อุกกาบาต หากชิ้นส่วนที่ตกสู่ผิวโลกมีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตขึ้น หลุมอุกกาบาตที่พบอยู่ทั่วไปบนผิวโลกมีทั้งสิ้นราว 50 หลุม โดยหลุมอุกกาบาตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
4. ปัญหาทางกายภาพของประเทศไทยและของโลก
    4.1 ปัญหาทางกายภาพของประเทศไทย
       ตัวอย่างปัญหาทางกายภาพในประเทศไทย
       ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นชื่อทุ่งกว้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในพื้นที่บางส่วนของ 5 จังหวัด 10 อำเภอ
ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแอ่งกว้าง มีขอบสูงลาดลงตรงกลาง ฤดูฝนน้ำจะท่วมขังอยู่กลางทุ่ง ส่วนในฤดูแล้งบริเวณทั่วท้องทุ่งน้ำอาจมีน้ำขังอยู่บ้างตามหนองน้ำ แต่พอเดือนเมษายนหนองน้ำทั้งหลายก็เหือดแห้งไปหมด
       ดินในทุ่งกุลาร้องไห้เป็นดินตะกอน (slit) หรือทรายแป้ง เกิดจากการสลายตัวของหินชุดโคราช มีความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่ปานกลางลงไปกระทั่งน้อย
       สภาพอากาศเป็นแบบทุ่งหญ้าเขตร้อน คือ มีระยะที่ฝนตกชุกและฝนแล้งสลับกัน ระยะที่ฝนตกชุกอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ส่วนเดือนธันวาคม - มกราคมเป็นเดือนที่แล้งจัดที่สุด จนกระทั่งเดือนมีนาคม – เมษายน อากาศจะร้อนจัด
       ทุ่งกุลาร้องไห้เริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจังระหว่าง พ.ศ. 2524 – 2546 ผลการพัฒนาทำให้ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของประเทศ และประชากรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
   4.2 ปัญหาทางกายภาพของโลก
       ตัวอย่างปัญหาทางกายภาพของโลก
       ทะเลทราย หมายถึง ดินแดนซึ่งมีความร้อนและแห้งแล้งจัดจนพืช สัตว์ และมนุษย์แทบจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทะเลทรายที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกสามารถแบ่งออกเป็น 2 เขต ได้แก่
       1) ทะเลทรายแถบลมค้า (trade wind desert) เป็นทะเลทรายในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมค้า (trade wind) ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ใต้เส้นศูนย์สูตรไปถึง 30 – 35 องศาเหนือและใต้
       2) ทะเลทรายภาคพื้นทวีป (continental desert) เป็นทะเลทรายที่อยู่ลึกเข้าไปในภาคพื้นทวีปและได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลน้อยมากหรือแทบไม่ได้รับเลย
       การกระทำของลมและสภาพภูมิอากาศในเขตแห้งแล้ง สามารถจำแนกทะเลทรายตามลักษณะที่ปรากฏได้ดังนี้
       1) ทะเลทรายหิน (hammada) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมด้วยหินแข็ง เนื่องจากเม็ดทรายและดินถูกลมพัดพาไปจนหมดสิ้น
       2) ทะเลทรายหินกรวด (reg) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมด้วยเศษหินและกรวด ในประเทศอียิปต์และประเทศลิเบียเรียกทะเลทรายชนิดนี้ว่า เซเรียร์ (serir)
       3) ทะเลทรายทราย (erg) เป็นทะเลทรายที่ปกคลุมพื้นที่แห้งแล้ง ประกอบด้วยเนินทรายแบบต่าง ๆ
       4) ทะเลทรายแดนทุรกันดาร (badland desert) เป็นร่องธารและหุบเหวขนาดใหญ่ที่มีความกว้างและลึก ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เลย
       5) ทะเลทรายภูเขา (mountain desert) พื้นที่ตามที่ราบสูงหรือภูเขาจะเกิดการกร่อนจากน้ำค้างแข็ง ทำให้ภูมิประเทศผุพังสลายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง
5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศไทยและของโลก
   5.1 แผ่นดินถล่ม (landslide)
   มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในฤดูฝนบริเวณภูเขา โดยภูเขานั้นอุ้มน้ำไว้จนอิ่มตัวจึงเกิดการพังทลายลงมา
       สาเหตุการเกิดแผ่นดินถล่ม
       มักเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง และไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ ประกอบกับปัจจัยอย่างอื่นที่ส่งเสริมความรุนแรงของแผ่นดินถล่ม ได้แก่ ลักษณะและโครงสร้างทางธรณีวิทยา เช่น รอยแตก รอยเลื่อน ชั้นหินคดโค้ง และความลาดชันของภูเขา
       ผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินถล่ม
       ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ก็ได้รับความเสียหายไปด้วย เช่น ดินเสื่อมสภาพ คุณภาพน้ำลดลง ตลอดจนทำความเสียหายต่อเขื่อน เนื่องจากเศษซากต่าง ๆ ขวางทางเดินของน้ำ เมื่อเขื่อนกั้นน้ำพังก็จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล
       การป้องกันดินถล่ม
       ไม่ตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งซับน้ำที่สำคัญ ถ้าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรสังเกตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เป็นการบอกเหตุว่าอาจเกิดแผ่นดินถล่ม เพื่อการอพยพได้ทันท่วงที
   5.2 อุทกภัย (flood)
   ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุทกภัยมีความรุนแรงและมีรูปแบบต่าง ๆ คือ ลักษณะภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่บริเวณนั้น อุทกภัยแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
       1. น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน มักเกิดขึ้นบริเวณที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ดินดูดซับน้ำไม่ทัน น้ำฝนจึงไหลสู่พื้นราบอย่างรวดเร็ว
       2. น้ำท่วมขัง มักเกิดบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ซึ่งอาจมีอาคารบ้านเรือนกีดขวางทางน้ำไหล ทำให้น้ำที่ท่วมขังระบายออกไม่ได้
       3. น้ำล้นตลิ่ง เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ระบายน้ำไม่ทัน จึงเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือน
       4. คลื่นซัดฝั่ง เกิดจากพายุลมแรงซัดฝั่ง ทำให้น้ำท่วมชายฝั่งทะเล
       ผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัย
       ทางตรง เช่น ทำให้บ้านเรือน ชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เสียหาย ทางอ้อม เช่น การระบาดของโรคที่มีน้ำเป็นสื่อ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน ตลอดจนปัญหาทางการเมือง
       การป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย
       ติดตามข่าวรายงานอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ และควรสังเกตปริมาณฝนที่ตกหนักติดต่อกันบนภูเขาหลาย ๆ วัน หลังเกิดอุทกภัยควรระวังโรคระบาดเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
   5.3 ภัยแล้ง (drought)
   เกิดจากการที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลเป็นระยะเวลานาน ทำให้ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภค
       สาเหตุการเกิดภัยแล้ง
       ภัยแล้งเกิดขึ้นทั้งจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม การทำลายชั้นโอโซน และเกิดจากธรรมชาติ เช่น วาตภัย แผ่นดินไหว
       ผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้ง
       ภัยแล้งส่งผลกระทบทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เกี่ยวเนื่องกันไป เช่น เมื่อเกิดความแห้งแล้งทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติตื้นเขิน ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ประชาชนไม่มีงานทำจึงต้องละทิ้งถิ่นฐานมาทำงานในเมืองใหญ่
       การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภัยแล้ง
       ทำได้หลายวิธี เช่น การทำฝนเทียม การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรักษาป่าไม้ให้คงความอุดมสมบูรณ์
   5.4 แผ่นดินไหว (earthquake)
   เกิดจากการที่แผ่นดินสั่นสะเทือน ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อมนุษย์ทั้งด้านร่างกายและทรัพย์สินโดยขนาดของแผ่นดินไหว ความรุนแรง และผลที่เกิดขึ้นใช้มาตราริกเตอร์เป็นเกณฑ์แบ่งระดับความสัมพันธ์
       ผลกระทบที่เกิดจากแผ่นดินไหว
       ความเสียหายทางตรงมักจะเกิดกับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ส่วนความเสียหายทางอ้อมมักจะปรากฏเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะหากแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่ในมหาสมุทรจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ของคลื่นขนาดใหญ่เรียกว่า สึนามิ (Tsunami)
       การป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว
       ทำได้โดยการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษา ดูแล และเตือนภัยประชาชน รวมถึงการออกกฎหมายว่าด้วยมาตรการด้านวิศวกรรมของอาคารสูงให้ทนทานต่อแรงไหวสะเทือน
       สำหรับประชาชนทั่วไป ควรติดตามข่าวสารและเข้าร่วมฝึกฝนการหนีภัยแผ่นดินไหวจากทางราชการอย่างสม่ำเสมอเพื่อเวลาที่เกิดแผ่นดินไหวจะปฏิบัติตนได้ถูกต้อง
   5.5 สึนามิ (Tsunami)
   สึนามิ หมายถึง คลื่นทะเลขนาดใหญ่ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วและมีพลังมาก เกิดจากมวลน้ำในทะเลและมหาสมุทรได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนกลายเป็นคลื่นกระจายตัวออกไปจากศูนย์กลางของการสั่นสะเทือนนั้น บริเวณที่เกิดคลื่นสึนามิบ่อยครั้ง คือในมหาสมุทรแปซิฟิก
   ส่วนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันตก ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด คือจังหวัดพังงา กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ตรัง และสตูล
       1. สาเหตุการเกิด
       เกิดจากการถูกกระทบกระเทือนจากแผ่นดินไหว แผ่นดินเลื่อน หรืออุกกาบาตพุ่งชน จนทำให้น้ำทะเลเคลื่อนตัวเพื่อปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุลและก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ
       2. ผลกระทบที่เกิดจากคลื่นสึนามิ
       ส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เช่น ประชาชนขาดที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภคถูกทำลาย ประเทศขาดรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากพื้นที่ท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย
       3. มาตรการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ
       กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศมาตรการในการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ ซึ่งประชาชนควรปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เช่น ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนเข้าร่วมฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เพื่อเวลาที่เกิดเหตุขึ้นจริงจะได้ช่วยเหลือตนเองได้
   5.6 ภูเขาไฟ (volcano)
   ภูเขาไฟเกิดจากหินหลอมเหลวที่อยู่ภายในโลกถูกแรงกระทำให้เคลื่อนที่มาสู่พื้นผิวของโลก หรือเกิดจากหินหนืดหรือลาวาที่ปะทุจากภายในโลกขึ้นสู่ยังผิวโลก
       1. ผลกระทบจากภูเขาไฟ
       ความเสียหายจากการปะทุของภูเขาไฟเกิดจากการไหลบ่าของหินหนืด เถ้าถ่าน ฝุ่นละออง เศษหิน ตกลงมาทับถมอย่างรวดเร็วทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนถูกทำลาย แต่อย่างไรก็ตาม การระเบิดของภูเขาไฟก็มีประโยชน์ คือ พื้นผิวของลาวาที่ทับถมอยู่ในบริเวณหรือที่ราบสูง เมื่อปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการสลายเป็นดินอุดมสมบูรณ์ เรียกว่า ดินลาวา เหมาะที่จะนำไปใช้ในการเพาะปลูกมาก นอกจากนี้ภูเขาไฟบางลูกยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น ภูเขาไฟฟุจิ ประเทศญี่ปุ่น
       2. การป้องกันภัยจากภูเขาไฟ
       การระเบิดของภูเขาไฟป้องกันไม่ได้ แต่สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการระเบิดของภูเขาไฟเพื่อหาวิธีลดผลกระทบที่อาจเกิด เช่น กรณีเกิดภูเขาไฟระเบิด อาจทราบล่วงหน้าได้โดยการสังเกตได้จากกลุ่มควันที่กรุ่น ๆ ออกมา แล้วอพยพผู้คนและทรัพย์สินออกจากบริเวณภูเขาไฟให้ห่างจากรัศมีลาวาที่จะไหลมาถึง
   5.7 พายุหมุน (cyclone)
   พายุหมุนก่อตัวขึ้นจากบริเวณศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ บริเวณใกล้ศูนย์กลางพายุหมุนมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม เรียกว่า ตาพายุ (storm eye) โดยทั่วไปมีศูนย์กลาง 15 – 60 กิโลเมตร พายุหมุนแบ่งตามลักษณะและแหล่งกำเนิดออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
       1. พายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) มีแหล่งกำเนิดบริเวณน่านน้ำในเขตละติจูดต่ำ
       2. พายุหมุนนอกเขตร้อน (extratropical cyclone) มีแหล่งกำเนิดบริเวณละติจูดกลางและเหนือขึ้นไป
       3. ทอร์นาโด (tornado) เป็นพายุหมุนที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีความรุนแรงมากที่สุด
   พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแหล่งกำเนิด ได้แก่ บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น แต่ถ้าเกิดในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ เรียกว่า เฮอร์ริเคน หากเกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนืออ่าวเบงกอล เรียกว่า พายุไซโคลน และหากเกิดในมหาสมุทรอินเดียใต้ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย เรียกว่า วิลลี-วิลลี (willy-willy)
   พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย
   ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากทางตะวันออกของประเทศ มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ โดยความรุนแรงของพายุแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
       พายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
       พายุโซนร้อน มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
       พายุไต้ฝุ่น มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต หรือ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
   สำหรับประเทศไทยพายุหมุนส่วนใหญ่ที่เคลื่อนตัวเข้ามาจะอยู่ในระดับของพายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุอ่อนกำลังลงก่อนถึงประเทศไทย ส่วนที่มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่นมีน้อยมาก แต่พายุหมุนเขตร้อนก็ยังมีด้านที่เป็นประโยชน์อยู่ด้วย คือ พายุดีเปรสชันจะทำให้ฝนตกปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยคลี่คลายสภาวะความแห้งแล้งและสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง
                  สรุปเนื้อหาธรณีภาค


2.บรรกาศภาค (atmosphere)

     บรรยากาศ (atmosphere) หมายถึง  อากาศในที่ต่าง ๆ ทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนที่ห่อหุ้มโลกอยู่โดยรอบ  จะอยู่สูงจากผิวโลกขึ้นไปประมาณ 800-1,000 กิโลเมตร บรรยากาศส่วนใหญ่จะหนาแน่นมากในระดับต่ำ ๆ และจะเจือจางลงเมื่อสูงขึ้นกล่าวคือบรรยากาศประมาณ 50% จะอยู่ในระยะไม่เกิน 5-6 กิโลเมตรจากผิวโลกอีก  25%  อยู่สูงต่อขึ้นไปอีก  5  กิโลเมตร และต่อจากนั้นบรรยากาศจะเบาบางลง ประมาณครึ่งหนึ่งทุก ๆ  5  กิโลเมตรที่สูงขึ้นไป ถ้าจะประมาณน้ำหนักบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกไว้ทั้งหมดจะได้ประมาณ 5.1 x 1021  กิโลกรัม  ซึ่งคิดเทียบเป็น 1 ในล้านส่วนของน้ำหนักทั้งหมดของโลก

    อากาศ (Air) หมายถึง  อากาศที่อยู่ในบริเวณจำกัด หรืออากาศที่ปกคลุมอยู่ในบริเวณเนื้อที่ซึ่งสามารถกำหนดขอบเขตได้  เป็นส่วนที่อยู่เหนือตำแหน่งบนผิวโลก เช่น  อากาศที่อยู่รอบตัวเราอากาศในห้องเรียน  อากาศบริเวณชายทะเล บนพื้นดิน บนภูเขา หรือบริเวณหุบเขา  เป็นต้น

 การแบ่งชั้นบรรยากาศก็มีหลายหลายแบบแบ่งได้ทั้งหมดสี่แบบดังนี้

 แบ่งจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์สามารถแบ่งบรรยากาศออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้

        1)  โทรโพสเฟียร์ (troposphere) คือ  ชั้นบรรยากาศที่เราอาศัยอยู่  มีระยะความสูงจากผิวโลกขึ้นไปไม่เกิน  10 กิโลเมตร อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนี้จะค่อย ๆ ลดลงตามระดับความสูงโดยเฉลี่ยอุณหภูมิจะลดลงประมาณ  6.5 องศาเซลเซียสต่อกิโลเมตร  เป็นชั้นบรรยากาศที่มีอากาศหนาแน่นและ มีไอน้ำมาก มีการเคลื่อนที่ของอากาศทั้งแนวระดับและแนวดิ่ง  ทำให้เกิดลักษณะลม ฟ้าอากาศต่าง ๆ เช่น มีหมอก เมฆ ฝน ลม พายุ เป็นบรรยากาศชั้นที่มีความสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา

        2)  สตราโตสเฟียร์ (stratosphere) คือ ชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไปจนถึงระดับความสูงประมาณ   50 กิโลเมตร อุณหภูมิบรรยากาศชั้นนี้ค่อนข้างจะคงที่หรือสูงขึ้นเล็กน้อยตามความสูงที่เพิ่มขึ้น  เป็นชั้นบรรยากาศที่มีความชื้นและผงฝุ่นเล็กน้อย แต่จะมีแก๊สโอโซนในปริมาณมากซึ่งแก๊สนี้จะช่วยดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)ไว้บางส่วนเพื่อไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเลตลงมาสู่ผิวโลกมากเกินไป

         3)  มีโซสเฟียร์   (mesosphere)  คือ  ชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือชั้นสตราโตสเฟียร์ขึ้นไปจนถึงระดับความสูงประมาณ 80 กิโลเมตร อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนี้จะลดลงตามระดับความสูง

         4)  เทอร์โมสเฟียร์ (thermosphere)  คือ ชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือชั้นมีโซสเฟียร์ขึ้นไปจนถึงระดับความสูง 500 กิโลเมตร อุณหภูมิของบรรยากาศชั้นนี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงความสูง 100 กิโลเมตรแรก หลังจากนั้นอัตราการสูงขึ้นของอุณหภูมิจะลดลง บรรยากาศชั้นนี้ร้อนมาก  คือ มีอุณหภูมิประมาณ   227-1,727 องศาเซลเซียส

         5)  เอกโซสเฟียร์ (exosphere)  คือ ชั้นบรรยากาศชั้นนอกสุดที่ห่อหุ้มโลก เริ่มตั้งแต่ 500 กิโลเมตรจากผิวโลกขึ้นไป บรรยากาศในชั้นนี้จะค่อย ๆ กลืนกับอากาศจนยากจะกำหนดลงไปได้ว่ามีขอบเขตเท่าใด บรรยากาศชั้นนี้มีโมเลกุลของแก๊สน้อยมากและเป็นแก๊สที่เบา  เช่น แก๊สไฮโดรเจน และแก๊สฮีเลียม

            การแบ่งชั้นบรรยากาศตามเกณฑ์สมบัติของแก๊สในบรรยากาศ สามารถแบ่งออกได้เป็น4ชั้นดังนี้

    โทรโพสเฟียร์ (troposphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ในระดับความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 10 กิโลเมตร  จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วย         ส่วนผสมของแก๊สหลายชนิด และ   ไอน้ำเป็นส่วนใหญ่  แก๊สดังกล่าวได้แก่ แก๊ส ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ และ         แก๊สอื่น ๆ เป็นต้น

    โอโซโนสเฟียร์ (ozonosphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือระดับโทรโพสเฟียร์ขึ้นไป คือในช่วงระยะความสูง10-50 กิโลเมตรจากระดับ     น้ำทะเล มีแก๊สโอโซนอยู่อย่างหนาแน่น ทำหน้าที่ช่วยดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตที่มาจากดวงอาทิตย์ไว้ จึงช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่       มวลมนุษย์ได้

    ไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือระดับโอโซโนสเฟียร์ขึ้นไปประมาณ 50-600 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลประกอบ     ด้วยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า ซึ่งเรียกว่า ไอออน (ion) สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุความถี่ไม่สูงนักได้ เช่น วิทยุระบบ A.M. จึงเป็นประโยชน์ใน         การใช้วิทยุสื่อสารระยะไกลได้

    เอกโซสเฟียร์ (exosphere) เป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของโลกมีอากาศเบาบางมากส่วนใหญ่เป็นก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียม

   การจัดจำแนกชั้นบรรยากาศโดยใช้ส่วนประกอบของอากาศที่มีแก๊สต่างๆ เป็นเกณฑ์ จัดแบ่งชั้นบรรยากาศได้เป็น 4 ชั้น ดังน

1. โทรโพสเฟียร์ (troposhere) เป็นชั้นบรรยากาศที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้

            1) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ตั้งแต่ส่วนที่ติดผิวโลกขึ้นไปในอากาศที่ระยะความสูง 10 กิโลเมตรโดยประมาณ

             2) มีส่วนประกอบของอากาศที่สำคัญมากคือ ไอน้ำ โดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบของอากาศตามปกติ

2. โอโซโนสเฟียร์ (ozonosphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้

               1) เป็นชั้นของบรรยากาศที่อยู่ถัดจากบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไปอีก ถึงระยะประมาณ 50-55 กิโลเมตรจากผิวโลก

                2) บรรยกาศชั้นนี้จะมีปริมาณของแก๊สโอโซน () อยู่มากที่สุด อาจเรียกบรรยากาศชั้นนี้ว่า ชั้นโอโซน ก็ได้

3. ไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้

            1) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่ถัดจากชั้นโอโซโนสเฟียร์ขึ้นไปถึงระยะความสูงประมาณ 600 กิโลเมตรจากผิวโลก

            2) มีปริมาณอิเล็กตรอนอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก

            3) ระยะจากผิวโลกขึ้นไปถึงชั้นไอโอโนสเฟียร์ พบว่าคลื่นความถี่ของวิทยุสามารถส่งสัญญาณไปได้ทั่วทุกหนทุกแห่งบนโลกไปได้ไกลเป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร

4. เอกโซสเฟียร์ (exosphere) เป็นชั้นบรรยากาศที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้

            1) เป็นชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงสุดถัดจากชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ขึ้นไปถึงระยะความสูงกว่าผิวโลกประมาณ 660 กิโลเมตร

            2) ในชั้นบรรยากาศนี้ความหนาแน่นขององค์ประกอบของอากาศจะมีน้อยลง

 การแบ่งชั้นบรรยากาศโดยใช้สมบัติทางอุตุนิยมวิทยาเป็นเกณฑ์

         1. บริเวณที่มีอิทธิพลของความฝืด อยู่สูงจากผิวโลกประมาณ 2 กิโลเมตร

         2. โทรโพสเฟียร์ชั้นกลางและชั้นบน  อุณหภูมิชั้นนี้จะลดลงอย่างสม่ำเสมอตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น

         3. โทรโพสเฟียร์ อยู่ระหว่างโทรโพสเฟียร์และสตราโทสเฟียร์

         4. สตราโตสเฟียร์  มีลักษณะอากาศเหมือนกับสตราโทสเฟียร์ที่แบ่งโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์

         5. บรรยากาศชั้นสูง เป็นชั้นที่อยู่เหนือสตราโตสเฟียร์ถึงขอบนอกสุดของบรรยากาศ

การแบ่งชั้นบรรยากาศโดยใช้อุณหภูมิเกณฑ์ แบ่งได้ 5 ชั้น

        1. โทรโพสเฟียร์(Troposphere) สูงจากพื้นดินสูงขึ้นไป 10 กิโลเมตร มีลักษณะดังนี้

                    – มีอากาศประมาณร้อยละ 80 ของอากาศทั้งหมด

                    – อุณหภูมิจะลดลงตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6.5 ๐C ต่อ 1 กิโลเมตร

                    – มีความแปรปรวนมาก เนื่องจากเป็นบริเวณที่ไอน้ำ เมฆ ฝน พายุต่างๆ ฟ้าแลบฟ้าร้องและฟ้าผ่า

        2. สตราโทสเฟียร์(Mesosphere) อยู่สูงจากพื้นดิน 10-50 กิโลเมตร มีอากาศเบาบาง มีเมฆน้อยมาก เนื่องจากมีปริมาณไอน้ำน้อยอากาศไม่แปรปรวน เครื่องบินบินอยู่ในชั้นนี้ มีแก๊สโอโซนมาก ซึ่งอยู่ที่ความสูงประมาณ 25 กิโลเมตร ช่วยดูดกลืนรังสีอัตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ไว้บางส่วน

        3. มีโซสเฟียร์(Mesosphere) สูงจากพื้นดินประมาณ 50-80 กิโลเมตร อุณหภูมิลดลงตามระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นสุ ดเขตของบรรยากาศชั้นนี้เรียกว่า มีโซพอส ซึ่งมีอุณหภูมิประมาณ -140 ๐C เป็นบรรยากาศชั้นที่ส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลก

       4. เทอร์โมสเฟียร์(Thermosphere) อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 80-500 กิโลเมตร ดาวตกและอุกาบาตร จะเริ่มลุกไหม้ในบรรยากาศชั้นนี้ อุณหภูมิจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 80-100 km จากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลง โดยทั่วไป อุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 227-1,727 ๐C บรรยากาศชั้นนี้มีความหนาแน่นของอนุภาคต่างๆ จางมาก แต่แก๊สต่างๆ ในชั้นนี้จะอยู่ในลักษณะที่เป็นอนุภาคที่ประจุไฟฟ้าเรียกว่า ไอออน สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุบางความถี่ได้ เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ไอโอโนสเฟียร์(Ionosphere)

        5. เอกโซสเฟียร์(Exosphere) อยู่ในระดับความสูงจากผิวโลก 500 กิโลเมตรขึ้นไป ไม่มีแรงดึงดูดของโลก ดาวตกและอุกบาตรจะไม่ลุกไหม้ในชั้นนี้ เนื่องจากมีแก๊สเบาบางมาก จนไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศ

ประโยชน์ของบรรยากาศ

        เมื่อมองจากอวกาศไปยังขอบโลกในภาพที่ 1 จะเห็นว่าโลกของเรามีบรรยากาศเป็นแผ่นฝ้าสีฟ้าบางๆ ห่อหุ้มอยู่ ลึกลงไปเป็นกลุ่มเมฆสีขาวซึ่งเกิดจากน้ำในบรรยากาศ เมื่อเปรียบเทียบขั้นบรรยากาศซึ่งหนาเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตร กับรัศมีของโลกซึ่งยาวถึง 6,353 กิโลเมตร  จะเห็นว่าบรรยากาศของโลกนั้นบางมาก จึงมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก หากมีภูเขาไฟลูกหนึ่งระเบิดขึ้น กระแสลมจะหอบหิ้วฝุ่นเถ้าภูเขาไฟให้ปลิวไปทั่วโลก หากเราเปลี่ยนแปลงกิจกรรมบนพื้นผิวโลก เราก็จะเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศด้วย ซึ่งจะตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น ภาวะโลกร้อน  รูโอโซน

 

ภาพที่ 1 บรรยากาศของโลกเมื่อมองดูจากอวกาศ

  แรงโน้มถ่วงของโลกทำให้อากาศกดทับกันลงมา เราเรียกน้ำหนักของอากาศที่กดทับกันว่า  “ความกดอากาศ” (Air pressure)  ความกดอากาศทำให้อากาศมีความหนาแน่น ดังนั้นยิ่งใกล้พื้นผิวโลกอากาศก็ยิ่งมีความหนาแน่น  ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความกดอากาศกับความหนาแน่นของอากา

ที่ระดับน้ำทะเลปานกลางมีความกดอากาศ 1013 กรัม/ตารางเซนติเมตร หรือ 1013 มิลลิบาร์

ที่ระยะสูง 5.6 กิโลเมตร ความกดอากาศลดลง 50%

ที่ระยะสูง 16 กิโลเมตร ความกดอากาศลดลงเหลือ 10%

ที่ระยะสูง 100 กิโลเมตร ความกดอากาศลดลงเหลือเพียง 0.00003% อย่างไรก็ตามองค์ประกอบของแก๊สแต่ละชนิดก็ยังคงเท่าเดิม  ณ ความสูงระดับนี้แม้ว่าจะมีอากาศอยู่ แต่ก็มีความหนาแน่นน้อยกว่าสภาวะ สูญญากาศที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

 ภาพที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างความกดอากาศ กับ ความหนาแน่นของอากาศ

       อากาศที่เราอาศัยอยู่ในชั้นโทรโพสเฟียร์ ความหนาแน่นของอากาศทำให้เรามีออกซิเจนเพียงพอต่อการหายใจ ความกดอากาศทำให้เลือดไม่ซึมออกจากร่างกาย แต่หากเราอยู่สูงขึ้นไปบนยอดเขา เช่น ดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 2.5 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง อากาศที่นั่นบางมากจนทำให้เราเหนื่อยง่าย และหากเราขึ้นไปอยู่บนยอดเขาเวอเรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกบนเทือกเขาหิมาลัย ที่ความสูง 8.5 กิโลเมตร มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอากาศบางเกินไป แก๊สออกซิเจนไม่พอหายใจ ไอน้ำน้อยเกินไปร่างกายจะสูญเสียน้ำ และอุณหภูมิต่ำเกินกว่าที่ร่างกาจะทนทานได้ 

 

ภาพที่ 2 การกรองรังสีของบรรยากาศ 

        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า บรรยากาศชั้นล่างสุดมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตมาก ทว่าความจริงแล้ว บรรยากาศทุกชั้นทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันให้แก่สิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกดังนี้

เทอร์โมสเฟียร์: บรรยากาศชั้นนอกสุดทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันรังสีแกมมาจากอวกาศ และรังสีเอ็กซ์จากดวงอาทิตย์ รังสีคลื่นสั้นเหล่านี้มีพลังงานสูงมากเมื่อปะทะกับโมเลกุลของอากาศ จะทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกจากวงโคจรของอะตอม กลายเป็นประจุ มีสมบัติในการสะท้อนคลื่นวิทยุในช่วงความถี่สูง (High Frequency)

มีโซสเฟียร์: บรรยากาศชั้นกลางมีความหนาแน่นของอากาศพอที่จะสร้างแรงเสียดทานให้กับอุกกาบาตที่ตกลงสู่โลก จนเกิดการลุกไหม้ทำให้เรามองเห็นเป็นดาวตก

สตราโตสเฟียร์: เมื่อแก๊สออกซิเจนในบรรยากาศชั้นนี้ดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเล็ตจากดวงอาทิตย์ จะแตกตัวเป็นออกซิเจนโมเลกุลเดี่ยว แล้วรวมตัวกับออกซิเจนโมเลกุลคู่ กลายเป็นแก๊สโอโซน (Ozone) ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รังสีอัลตราไวโอเล็ตทะลุผ่านลงมาทำอันตรายสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนพื้นผิวโลก

โทรโพสเฟียร์: มีแก๊สเรือนกระจก เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน อยู่ประมาณ 1% ทำให้โลกมีความอบอุ่น กลางวันและกลางคืนมีอุณหภูมิไม่แตกต่างมากจนเกินไป ทำให้เกิดวัฏจักรน้ำ น้ำบนพื้นผิวโลกจึงมีครบทั้งสามสถานะ  นอกจากนั้นแล้วบรรยากาศโลกยังโปร่งใสต่อคลื่นไมโครเวฟและคลื่นวิทยุบางความถี่ มนุษย์สามารถประโยชน์คลื่นทั้งสองชนิดในการติดต่อสื่อสาร

                                                         สรุปเนื้อหาบรรยากาศภาค


3. อุทกภาค(Hydroshere)

   โลกเป็นดาวเคราะห์ซึ่งพื้นผิวส่วนใหญ่ห่อหุ้มด้่วยน้ำ โลกของเราแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ เนื่องจากบนพื้นผิวโลกมีน้ำอยู่ครบทั้งสามสถานะ การเปลี่ยนสถานะของน้ำในธรรมชาติ หรือ วัฏจักรน้ำ ทำให้เกิดการถ่ายเทพลังงานไปทั่วทั้งโลก  น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดี จึงทำให้เกิดการพัดพาแร่ธาตุต่างๆ ลงสู่มหาสมุทร และเกิดโมเลกุลซึ่งมีโครงสร้างสลับซับซ้อนซึ่งเป็นจุดกำเนิดของชีิวิต สิ่งมีชีวิตบนโลกล้วนมีองค์เประกอบหลักเป็นน้ำ นอกจากน้ำจะเป็นทั้งองค์ประกอบและถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตแล้ว น้ำยังเกราะป้องกันรังสีคลื่นสั้นซึ่งเป็นอันตรายอีกด้วย น้ำมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสสารอื่นๆ คือ เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็งแล้วกลับมีความหนาแน่นลดลง น้ำแข็งบนพื้นผิวมหาสมุทรจึงเป็นผ้าห่มปกคลุมป้องกันความหนาวเย็นจากอากาศเบื้องบน ทำให้สิ่งมีชีวิตแถบขั้วโลกดำรงชีวิตอยู่ได้

วัฏจักรน้ำ

    แม้ว่าพื้นผิวโลกส่วนใหญ่จะปกคลุมไปด้วยน้ำ แต่ถ้าเปรียบเทียบมวลของน้ำกับมวลของโลก น้ำมีมวลเพียงร้อยละ 0.2 ของมวลโลก อย่างไรก็ตามการหมุนเวียนของน้ำเป็นวัฎจักร ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในการศึกษาระบบโลก  ดวงอาทิตย์แผ่รังสีทำให้พื้นผิวโลกได้รับพลังงาน ปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 22 ทำให้น้ำบนพื้นผิวโลกไม่ว่าจะในมหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ หรือ ห้วย หนอง คลอง บึง ระเหยเปลี่ยนสถานะเป็นแก๊สคือ ไอน้ำ ลอยขึ้นสู่บรรยากาศ  อุณหภูมิของไอน้ำลดลงเมื่อลอยตัวสูงขึ้นจนเกิดความชื้นสัมพันธ์ 100% ไอน้ำจะควบแน่นเป็นละอองน้ำเล็กๆ ซึ่งมองเห็นเป็นเมฆ เมื่อหยดน้ำเล็กๆ ในเมฆรวมตัวกันจนมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักพอที่จะชนะแรงต้านทานอากาศ ก็จะตกลงมากลายเป็นฝน หรือหิมะ หิมะที่ตกค้างอยู่บนยอดเขาพอกพูนกันเป็นธารน้ำแข็ง น้ำฝนที่ตกลงถึงพื้นรวมตัวเป็นลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง หรือไหลบ่ารวมกันเป็นแม่น้ำ  เมื่อธารน้ำแข็งละลายก็จะเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่แม่น้ำ  น้ำบนพื้นผิวโลกบางส่วนแทรกซึมตามรอยแตกของหิน ทำให้เกิดน้ำใต้ดิน และไหลไปรวมกันในท้องมหาสมุทร เป็นอันครบรอบวัฏจักรตามภาพที่ 1


ภาพที่ 1 วัฎจักรน้ำ


        วัฏจักรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในบรรยากาศ บนพื้นผิว หรือใต้ดิน ล้วนเป็นกลไกที่สำคัญของระบบโลก ไอน้ำที่ระเหยออกจากน้ำในมหาสมุทร ทิ้งประจุแร่ธาตุต่างๆ ทำให้มหาสมุทรมีความเค็ม ไอน้ำที่ระเหยขึ้นไปเป็นน้ำจืดบริสุทธิ์ แต่เมื่อไอน้ำควบแน่นเป็นหยดน้ำและตกลงมาเป็นฝน น้ำฝนละลายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ จึงมีสภาพเป็นกรดคาร์บอนิกอ่อนๆ เมื่อตกลงสู่พื้นผิวโลกจะทำปฏิกิริยากับหินปูนซึ่งมีองค์ประกอบเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ทำให้เกิดหน้าผาแหลม โพรงถ้ำ และน้ำกระด้าง 

        เนื่องจากน้ำเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นไปตามอุณหภูมิ การขยายตัวของน้ำในซอกหินทำให้หินแตก น้ำเป็นตัวละลายที่ดีจึงนำพาแร่ธาตุสารอาหารไปกระจายตามส่วนต่างๆ ของพื้นผิวโลก และสะสมแร่ธาตุในดิน ทำให้พืชพรรณอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารของสรรพสัตว์  ต้นไม้สังเคราะห์แสงเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอาหารและปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ ปริมาณสัตว์ควบคุมปริมาณพืช  คายน้ำกลับคืนสู่บรรยากาศ ทำให้เกิดความชื้นบนผิวดิน  น้ำไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ จึงชะล้างประจุของแร่ธาตุทั้งหลายไปสะสมกันในท้องทะเล และเกิดเป็นตะกอนที่พื้นมหาสมุทร สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรจึงใช้แร่ธาตุเหล่านี้เป็นอาหารและสร้างร่างกาย  มหาสมุทรจึงเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก  นอกจากนั้นแล้วการที่น้ำมีความจุความร้อน และเป็นตัวพาความร้อนที่ดี  กระบวนการเปลี่ยนสถานะของน้ำจึงเป็นสมดุลพลังงานของโลก  ซึ่งมีอิทธิพลต่อระบบภูมิกาศของโลกอีกด้วย 
    แหล่งน้ำ



ภาพที่ 1 โลก ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน


        แม้ว่าพื้นผิว 2 ใน 3 ส่วนของโลกปกคลุมไปด้วยน้ำ  แต่น้ำจืดที่สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตของมนุษย์กลับมีไม่ถึง 1%  ถ้าหากสมมติว่าน้ำในโลกทั้งหมดเท่ากับ 100 ลิตร จะมีน้ำทะเล 97 ลิตร  น้ำแข็งเกือบ 3 ลิตร  ส่วนน้ำจืดที่เราสามารถใช้บริโภคอุปโภคได้มีเพียง 3 มิลลิลิตร ดังภาพที่ 2  ด้วยเหตุนี้น้ำจึงเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่า และขาดแคลนง่าย 


ภาพที่ 2 เปรียบเทียบแหล่งน้ำบนโลก


        แม้ว่าปริมาณน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในทะเลและมหาสมุทร แต่น้ำก็มีอยู่ในทุกหนแห่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ลำคลอง น้ำใต้ดิน น้ำในบรรยากาศ รวมทั้งเมฆหมอกและหยาดน้ำฟ้า ดังข้อมูลในตารางที่ 1  นอกจากนั้นร่างกายมนุษย์มีองค์ประกอบเป็นน้ำร้อยละ 65  ร่างกายของสัตว์น้ำบางชนิด เช่น แมงกะพรุน มีองค์ประกอบเป็นน้ำร้อยละ 98  ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า น้ำคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดของสิ่งมีชีวิต 

ตารางที่ 1 แหล่งน้ำบนโลก

มหาสมุทร

97.2 %

ทะเลสาบน้ำเค็ม

0.008 %

ธารน้ำแข็ง

2.15 %

ความชื้นของดิน

0.005 %

น้ำใต้ดิน

0.62 %

แม่น้ำ ลำธาร

0.00001 %

ทะเลสาบน้ำจืด

0.009 %

บรรยากาศ

0.001 %



น้ำผิวดิน 

        แหล่งน้ำที่เรารู้จักและใช้ประโยชน์กันมากที่สุดคือ "น้ำผิวดิน" (Surface water)  น้ำผิวดินมีทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด  แหล่งน้ำผิวดินที่เป็นน้ำจืดได้แก่ ทะเลสาบน้ำจืด แม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง บึง  เนื่องจากภูมิประเทศของพื้นผิวโลกไม่ราบเรียบเสมอกัน พื้นผิวของโลกแต่ละแห่งมีความแข็งแรงทนทานไม่เหมือนกัน  แรงโน้มถ่วงทำให้น้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ น้ำมีสมบัติเป็นตัวทำละลายที่ดีจึงสามารถกัดเซาะพื้นผิวโลกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศ 

        การกัดเซาะของน้ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนแปลงขนาด รูปร่าง และทิศทางการไหล เมื่อฝนตก หยดน้ำจะรวมตัวกันแล้วไหลทำให้เกิดร่องน้ำ ร่องน้ำเล็กๆ ไหลมารวมกันเป็น "ธารน้ำ" (Stream)  เมื่อกระแสน้ำในธารน้ำไหลอย่างต่อเนื่องก็จะกัดเซาะพื้นผิวและพัดพาตะกอนขนาดต่างๆ ไปกับกระแสน้ำ ธารน้ำจึงมีขนาดใหญ่และยาวขึ้นจนกลายเป็น แม่น้ำ (River) ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ ถ้าพื้นที่มีความลาดชันมากกระแสน้ำจะเคลื่อนที่เร็ว แต่ถ้าหากพื้นที่มีความลาดชันน้อยกระแสน้ำก็จะเคลื่อนที่ช้า  นอกจากนั้นความเร็วของกระแสน้ำยังขึ้นอยู่กับพื้นที่หน้าตัด เข่น เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านช่องเขาแคบๆ ก็จะเคลื่อนที่เร็ว  เมื่อกระแสน้ำพบความที่ราบกว้างใหญ่ เช่น บึง หรือทะเลสาบ กระแสน้ำจะหยุดนิ่งทำให้ตะกอนที่น้ำพัดพามาก็จะตกทับถมใต้ท้องน้ำ ดังเราจะพบว่า อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนที่มีอายุมากมักมีความตื้นเขินและเก็บกักน้ำได้น้อยลง  อย่างไรก็ตามปริมาณของน้ำผิวดินขึ้นอยู่กับลักษณะภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน เนื้อดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรน้ำ  


ภาพที่ 3 ภาคตัดขวางของแม่น้ำ


น้ำใต้ดิน 

        หากไม่นับธารน้ำแข็งขั้วโลกแล้ว "น้ำบาดาล" (Ground water) เป็นแหล่งน้ำจืดที่มีปริมาณมากที่สุดบนโลกของเรา  น้ำบาดาลเกิดขึ้นจากการไหลซึมของน้ำผิวดิน  ในเนื้อดินมีรูพรุน (Pore) สำหรับอากาศและน้ำ เช่น ดินเหนียวมีรูพรุนขนาดเล็ก น้ำไหลผ่านได้ยาก  ดินทรายมีรูพรุนขนาดใหญ่ น้ำไหลผ่านได้ง่าย  เมื่อพื้นผิวดินเกิดความชื้นหรือมีฝนตก เม็ดดินจะเก็บน้ำไว้ในรูพรุนไว้จนกระทั่งดินอิ่มตัวด้วยน้ำ ไม่สามารถเก็บน้ำได้มากกว่านี้แล้ว น้ำส่วนหนึ่งจะไหลบ่าไปตามพื้นผิว (Run off) น้ำอีกส่วนหนึ่งจะไหลซึมลงสู่ชั้นดินเบื้องล่าง (Infiltration)  ใต้ชั้นดินลึกลงไปจะเป็นชั้นหินตะกอนเนื้อหยาบที่สามารถเก็บกักน้ำบาดาลไว้ได้เรียกว่า "ชั้นหินอุ้มน้ำ" (Aquifer)  ซึ่งเป็นหินทราย กรวด ตะกอนทราย จึงมีสมบัติยอมให้น้ำซึมผ่านโดยง่าย เนื่องจากช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างอนุภาคตะกอน จึงเก็บกักน้ำได้เป็นปริมาณมากจนกลายเป็นแหล่งน้ำบาดาล  ใต้ชั้นหินอุ้มน้ำลงไปเป็นชั้นหินตะกอนเนื้อละเอียด เช่น หินดินดานหรือทรายแป้งซึ่งไม่ยอมให้น้ำซึมผ่านได้  ในบางแห่งที่ชั้นหินอุ้มน้ำถูกขนาบด้วยชั้นหินเนื้อละเอียดก็จะเกิดแรงดันน้ำ ถ้าเราเจาะบ่อบาดาลลงไปตรงบริเวณดังกล่าง แรงดันภายในจะดันน้ำให้มีระดับสูงขึ้น หรือไหลล้นปากบ่อออกมา  และเนื่องจากชั้นหินมีความลาดเอียง น้ำในดินจึงไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ แรงดันของน้ำใต้ดินจึงมักทำให้เกิด "น้ำพุ" (Spring) ในบริเวณที่ราบต่ำ ดังภาพที่ 4  


ภาพที่ 4 ภาคตัดขวางของแหล่งน้ำใต้ดิน 


            อย่างไรก็ตามน้ำบาดาลทำให้เกิดแรงดันภายใต้พื้นผิว ซึ่งช่วยรับน้ำหนักที่กดทับจากด้านบน แต่ถ้าหากเราสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เป็นปริมาณมาก เกินกว่าที่น้ำจากธรรมชาติจะไหลมาแทนที่ช่องว่างระหว่างอนุภาคตะกอนของชั้นหินอุ้มน้ำได้ทัน ก็จะส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างรวดเร็ว โพรงที่ว่างที่เกิดขึ้นจะทำให้แผ่นดินที่อยู่ด้านบนทรุดตัวลงมากลายเป็น หลุมยุบ (Sinkhole) ซึ่งถ้าเกิดขึ้นในเขตชุมชน ก็จะสร้างความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้าง และเกิดอันตรายต่อชีวิต 

น้ำทะเล

กระแสน้ำในมหาสมุทร

    น้ำเป็นของไหลเช่นเดียวกับอากาศ การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรจึงมีลักษณะคล้ายกับการไหลเวียนของกระแสลมในบรรยากาศ แต่การไหลเวียนของกระแสน้ำมีอุปสรรคขวางกั้น  เนื่องจากหนึ่งในสามของพื้นผิวโลกเป็นแผ่นดิน การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรจึงไม่ปรากฏรูปแบบที่ชัดเจนเหมือนดังกระแสลม  ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือน้ำทะเลในมหาสมุทรมีความเค็มไม่เท่ากัน น้ำทะเลที่เค็มมากกว่ามีความหนาแน่นสูงจะเคลื่อนไปแทนที่น้ำทะเลที่มีความหนาแน่นต่ำ  เราจึงแบ่งการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรเป็น 2 ประเภทคือ กระแสน้ำบริเวณพื้นผิว (Surface currents) และกระแสน้ำลึก (Deep currents)



การไหลเวียนของกระแสน้ำพื้นผิวมหาสมุทร
          กระแสน้ำพื้นผิวมหาสมุทรเกิดขึ้นเนื่องจากแรงเสียดทานระหว่างอากาศกับผิวน้ำ อากาศเคลื่อนที่ด้วยการพาความร้อน (Convection cells) ซึ่งสะสมพลังงานมาจากแสงอาทิตย์  พลังงานจากอากาศถ่ายทอดลงสู่ผิวน้ำอีกทีหนึ่ง โดยกระแสลมพัดพาให้กระแสน้ำเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกัน  ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ลมสินค้าตะวันออกบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร (ลูกศรสีน้ำเงิน) มีอิทธิพลพัดพาให้น้ำในมหาสมุทรเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก (ลูกศรสีแดง) และลมตะวันตกในบริเวณใกล้ขั้วโลก 
(ลูกศรสีน้ำเงิน) มีอิทธิพลพัดพาให้น้ำในมหาสมุทรเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก (ลูกศรสีน้ำแดง) การไหลของน้ำในมหาสมุทรเคลื่อนที่เป็นรูปวงเวียน ในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้




ภาพที่ 1 อิทธิพลของกระแสลมต่อกระแสน้ำในมหาสมุทร

      

        โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลมทำให้น้ำในมหาสมุทรมีอุณหภูมิแตกต่างกัน พลังงานจากดวงอาทิตย์ตกกระทบบริเวณศูนย์สูตรมากกว่าขั้วโลก น้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรมีอุณหภูมิสูงจึงไหลไปทางขั้วโลก ในขณะที่น้ำทะเลบริเวณขั้วโลกมีอุณหภูมิต่ำกว่าไหลเข้ามาแทนที่ (ภาพที่ 2) เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติในการเก็บความร้อนได้ดีกว่าพื้นดินกล่าวคือ ใช้เวลาในการสะสมความร้อนและเย็นตัวลงนานกว่าพื้นดิน ดังนั้นกระแสน้ำพบพื้นผิวมหาสมุทรจึงนำพาพลังงานความร้อนไปด้วยเป็นระยะทางไกล ทำให้เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศและระบบนิเวศบนพื้นที่ชายฝั่งเป็นอย่างยิ่ง  กระแสน้ำอุ่นทำให้น้ำระเหยเป็นไอน้ำแล้วควบแน่นตกลงมาเป็นฝน อากาศชื้น พืชพรรณอุดมสมบูรณ์  กระแสน้ำเย็นทำให้อากาศแห้งจมตัวลง  เกิดภูมิอากาศแบบทะเลทราย  อย่างไรก็ตามอิทธิพลของกระแสลมส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำในมหาสมุทรเพียงความลึก 1 กิโลเมตรเท่านั้น  นั่นหมายถึงการไหลเวียนของกระแสน้ำผิวพื้นมีอิทธิพลต่อน้ำในมหาสมุทรเพียงประมาณร้อยละ 10 


การไหลเวียนของกระแสน้ำลึกในมหาสมุทร

          น้ำทะเลในแต่ละส่วนของโลกมีความเค็มไม่เท่ากันและมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน น้ำทะเลที่มีความหนาแน่นสูงจะไหลไปแทนที่น้ำทะเลที่มีความหนาแน่นต่ำ  การหมุนเวียนของกระแสน้ำลึกมีปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการคือ ความร้อน (Thermo) และเกลือ (Haline) เราเรียกการไหลเวียนในลักษณะนี้ว่า "เทอร์โมแฮลีน" (Thermohaline) 

 


ภาพที่ 3 การไหลเวียนของน้ำลึกในมหาสมุทร
        
        วงจรการไหลเวียนของกระแสน้ำลึกในมหาสมุทรมีชื่อเรียกว่า “แถบสายพานยักษ์” (Great conveyor belt) น้ำทะเลความหนาแน่นสูงอุณหภูมิต่ำจมตัวลงสู่ท้องมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไหลลึกลงทางใต้ แล้วเลี้ยวไปทางตะวันออก ขณะที่มันไหลผ่านมหาสมุทรอินเดียอุณหภูมิจะสูงขึ้น และลอยตัวขึ้นทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกดังเส้นสีน้ำเงินในภาพที่ 3   
        น้ำทะเลความหนาแน่นต่ำอุณหภูมิสูงจากมหาสมุทรแปซิฟิก ไหลวกกลับผ่านมหาสมุทรอินเดียลงมาทางมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ แล้วไหลย้อนมาทางมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือดังเส้นประสีแดงในภาพที่ 3 กระแสน้ำมีความเค็มมากขึ้นเนื่องจากการระเหยของน้ำ ประกอบกับการเดินทางเข้าใกล้ขั้วโลกทำให้อุณหภูมิต่ำลง จึงจมตัวลงอีกครั้งเป็นการครบวงจรใช้เวลาประมาณ 500 – 2,000 ปี การไหลเวียนเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในระยะยาว อาทิเช่น ยุคน้ำแข็งเล็ก ในยุโรปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17 อิทธิพลของการไหลเวียนแบบเทอร์โมแฮลีนมีอิทธิพลต่อน้ำในมหาสมุทรประมาณร้อยละ 9
        น้ำทะเลมีรสเค็ม เนื่องจากมีเกลือซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ปะปนอยู่ในรูปของสารละลาย ในน้ำทะเล 1 ลิตร (1,000 กรัม) มีเกลืออยู่ 35 กรัม ในบริเวณที่น้ำทะเลอุณหภูมิสูง เช่น ใจกลางมหาสมุทรบริเวณเส้นศูนย์สูตร แสงแดดมีความเข้มสูงทำให้น้ำในมหาสมุทรระเหยเป็นไอน้ำทิ้งแร่ธาตุที่ตกค้างไว้ในทะเล น้ำทะเลจึงมีความเค็มมาก แต่ในที่หนาวเย็นที่บริเวณขั้วโลก แสงแดดตกกระทำพื้นผิวโลกเป็นมุมเฉียง พลังงานที่ตกกระทบน้อย ปริมาณการระเหยของน้ำทะเลย่อมน้อยตามไปด้วยจึงมีความเค็มไม่มาก  ในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำมีความเค็มไม่มากเนื่องจากอิทธิพลของน้ำจืดจากแม่น้ำลำคลองทำให้น้ำทะเลเจือจาง

        เกลือในมหาสมุทรมีกำเนิดมาจากแร่ธาตุบนพื้นโลก น้ำเป็นตัวทำละลายที่ดี น้ำฝนละลายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศทำให้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ น้ำที่อยู่บนพื้นโลกละลายแร่ธาตุในหินและดิน ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำลำธารไปสะสมกันในมหาสมุทร สารละลายเกลือเหล่านี้อยู่เป็นประจุของแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ประจุโซเดียม (Na+) และประจุคลอไรด์ (Cl-)  เมื่อน้ำระเหยออกไปประจุเหล่านี้รวมตัวกันเป็นสารประกอบ ได้แก่ เกลือแกง (NaCl) และเกลืออื่นๆ ดังตารางที่ 1 


ตารางที่ 1 ประจุเกลือในน้ำทะเล


คลอไรด์ (Cl-)

54.3%

แมกนีเซียม (Mg++)

3.7%

โซเดียม (Na+)

30.2%

แคลเซียม (Ca++)

1.2%

ซัลเฟต (SO4++)

7.6%

โปแตสเซียม (K+)

1.1%



ประจุอื่นๆ

1.9%



        มวลน้ำในมหาสมุทร มี 3 ระดับ คือ น้ำชั้นบน เทอร์โมไคลน์​ และน้ำชั้นล่าง 

  • น้ำชั้นบน (Surface water) ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์และบรรยากาศ จึงมีน้ำฝนและน้ำท่า (น้ำจากแม่น้ำลำคลอง) ปนอยู่ จึงมีความความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำชั้นล่าง 
  • เทอร์โมไคลน์ (Thermocline) อยู่ใต้ระดับน้ำชั้นบน เป็นเขตที่อุณหภูมิของน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็วตามความลึกที่เพิ่มขึ้นดังภาพที่ 1  ความเค็มเพิ่มขึ้นตามความลึก
  • น้ำชั้นล่าง (Deep water) มีอุณหภูมิต่ำ ความเค็มและความหนาแน่นสูงมาก 
        
        น้ำในบริเวณพื้นผิวมหาสมุทร ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์และบรรยากาศ จึงมีน้ำฝนหรือน้ำจากแม่น้ำลำคลองปนอยู่ จึงมีความเจือจางและมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำชั้นล่าง ซึ่งมีความเค็มสูงและมีอุณหภูมิต่ำกว่า เมื่อดูกราฟในภาพที่ 1 จะเห็นว่า ใต้ระดับผิวน้ำลงไปอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเรียกว่า "เทอร์โมไคลน์"  (Thermocline)  ใต้ระดับผิวน้ำลงไปความเค็มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเรียกว่า "แฮโลไคลน์" (Halocline)  อุณหภูมิและความเค็มคือปัจจัยที่ทำให้น้ำทะเลมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นตามระดับความลึก 



ภาพที่ 1 เทอร์โมไคลน์ และแฮโลไคลน์ 

4.ชีวภาค (Biosphere)  
    ชีวภาค (Biosphere)  หมายถึง บริเวณของผิวโลก รวมทั้งในบรรยากาศและใต้ดินที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นทั้งที่มีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว ได้แก่ พืช สัตว์ มนุษย์ โดยพื้นที่หรือถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กันและมีการปรับปรุงตัวของสิ่งมีชีวิตให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งในด้านบรรยากาศ ธรณีภาค และอุทกภาค
1) ปรากฏการณ์ทางชีวภาคของพืช ที่สำคัญ มีดังนี้
1.1) ลักษณะทางกายภาพของพืช พืชมีองค์ประกอบทางชีวภาพเฉพาะที่มีความแตกต่าง สามารถเห็นได้ชัด
เช่น ขนาดและความสูงของลำต้น  ประเภทไม้ยืนต้น  ไม้ล้มลุก ไม้เถา  ไม้เกาะหรือกาฝาก  การแผ่ร่มเงา  ลักษณะของขนาดของใบ รูปร่าง  เช่น  พืชในเขตแห้งแล้งจะมีใบมัน  เป็นต้น
1.2) การกระจายของพืชพรรณธรรมชาติในโลก การกระจายของพืชพรรณ จำแนกตามสภาพแวดล้อมแบ่งได้              3ประเภทตามชีววัฏจักร คือ
(1) พืชที่เจริญเติบโตได้ในน้ำเค็ม  เช่น  สาหร่าย  หญ้าทะเล  ซึ่งสามารถสังเคราะห์ด้วยแสง เพื่อสร้างอาหารได้  ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลและแนวรอยต่อระหว่างน้ำจืดที่ไหลออกมาจากแผ่นดินกับน้ำทะเลที่เรียกว่า  น้ำกร่อย  จะมีพรรณไม้หลายชนิด  เช่น ไม้โกงกาง  ไม้แสม  ไม้ตะบูน  ไม้ลำพู  ต้นจาก เป็นต้น  และเนื่องจากพรรณไม้เหล่านี้มักเจริญเติบโตบริเวณหาดเลนของปากแม่น้ำจึงเรียกบริเวณนี้ว่า  “ป่าชายเลน” เป็นสถานที่อนุบาลสัตว์น้ำและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ป่าชายเลนยังทำหน้าที่เป็นแนวยึดดินไม่ให้พังทลายจากกระแสน้ำ คลื่นและลมที่จะทำความเสียหายแก่ภายในแผ่นดิน


(2) พืชที่เจริญเติบโตได้ในน้ำจืด  บริเวณชายตลิ่งของแหล่งน้ำจืดและในพื้นที่น้ำจืดจะมีพืชหลายชนิดที่เจริญเติบโตอยู่ ได้แก่  พืชสาย  คือ  พืชที่มีเหง้าอยู่ในดิน  มีลำต้นเป็นสายขึ้นอยู่ทั้งใต้ระดับน้ำและเหนือระดับน้ำ  พืชที่ลอยไปตามกระแสน้ำ เช่น  แหน  ผักตบชวา  พืชที่ขึ้นเป็นต้นมีใบยาว  เช่น       ต้นอ้อ ไม้ยืนต้นที่ขึ้นในบริเวณตลิ่ง  เช่น  ต้นมะกอกน้ำ  เป็นต้น

(3) พืชที่เจริญเติบโตในแผ่นดิน  บริเวณแผ่นดินที่มีพืชขึ้นได้แบ่งออกตามลักษณะของพืชได้ ชนิด  ประกอบด้วย  ป่าไม้  ป่าสลับทุ่งหญ้า  ทุ่งหญ้าและพืชทะเลทราย  โดยพืชชนิดต่างๆ  จะเจริญงอกงามได้ดีเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ  เช่น  ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี  บริเวณพื้นที่ลาดชันมักจะพบพืชน้อย  บริเวณที่ราบหรือหุบเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์จะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น  ทำให้การเจริญเติบโตของพืชต่างกันด้วย  อาทิ  บริเวณที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นจะพบต้นไม้สูง  ไม่ผลัดใบ  ภูมิอากาศแบบสะวันนาจะพบพืชพรรณธรรมชาติเป็นทุ่งหญ้ายาวและมีต้นไม้พุ่มปะปนอยู่บ้าง  เป็นต้น
2)  ปรากฏการณ์ทางชีวภาคของสัตว์ สัตว์ชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในโลกมีแหล่งหรือถิ่นที่อยู่หลัก 

ปรากฏการณ์ทางชีวภาคของสัตว์  ที่สำคัญคือ

1. สัตว์ในเขตป่าดิบ 


 2.  สัตว์ในเขตป่าอบอ่น  


3.  สัตว์ในเขตท่งหญ้า   


4. สัตว์ในเขตทะเลทราย  


5. สัตว์ในเขตขั้วโลก  

 

6. สัตว์ในเขตภูเขา  


 7. สัตว์ในมหาสมุทร

นักเรียนสามารถศึกษาเพิ่มเติม

ได้จากวีดีโอต่อไปนี้

                                               การเคลื่อนของแผ่นทวีป
        โครงสร้างของโลก

ลักษณะภูมิประเทศ
                                                             ระบบกายภาพ-ภูมิประเทศ 

   แหล่งที่มา:Infographic ภูมิศาสตร์จากหนังสือส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมโดย  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดาวน์โหลด http://bit.ly/2LuA6nE

                http://www.lesa.biz/earth/global-change

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ม.5

  พระรัตนตรัย ความหมายของพระธรรม            พระธรรม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ) ความหมายของพระธรรม คือ ค...